วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Gurn Yu




@ กวนอู @

กวนอูเกิดในปี ค.ศ.162 แต่เดิมชื่อเผิงเสียน ชื่อรองเดิมว่าฉางเซิง(1) เขาไปฆ่าปลัดอำเภอกับน้าชายปลัดอำเภอตาย จึงต้องหนีการตามล่าของทางการไปจนถึงด่านถงกวาน นายด่านที่รักษาด่านเห็นว่ามีพิรุธจึงถามว่าชื่อแซ่อะไร เขาตกใจพูดอะไรไม่ออกเอาแต่ชี้ไปที่ด่านนั้น นายด่านก็ถามว่าแซ่กวาน(กวน)หรือ กวนอูจึงตอบไปว่าใช่ นับจากนั้นเขาจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อกวานหยู่หรือกวนอู และก็เปลี่ยนชื่อรองเป็นหยุนฉาง(2) กวนอูหลบหนีมาจนถึงอำเภอจุ่ยบ้านเกิดของเล่าปี่กับเตียวหุย วันหนึ่งเขาเดินเข้าไปในร้านเหล้าและตะโกนว่า "รีบเอาเหล้ามา กินแล้วเราจะไปอาสาแผ่นดิน" ขณะนั้นเล่าปี่และเตียวหุยกำลังกินเหล้ากันอยู่พอดี เล่าปี่เห็นกวนอูท่าทางห้าวหาญจึงเข้าไปทักทาย ทั้งสามคนคุยกันจนถูกคอ จึงได้สาบานเป็นพี่น้องกันที่สวนท้อหลังบ้านของเตียวหุย โดยเล่าปี่เป็นพี่ใหญ่ กวนอูเป็นพี่รอง และเตียวหุยเป็นน้องเล็ก ทั้งสามคนได้จัดตั้งกองทัพขึ้นมาเพื่อจัดการกับโจรโพกผ้าเหลืองที่ออกสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน โดยมีผู้บริจาคม้าและเหล็กสำหรับทำอาวุธแก่กองทัพ ทั้งสามก็ได้นำเอาเหล็กมาหลอมเป็นอาวุธ โดยกวนอูนั้นใช้ง้าวมังกรเขียว(3)เป็นอาวุธ ต่อมาเล่าปี่ได้บำเหน็จความชอบ ได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักเป็นผู้บังคับกองทหารอำเภออานสี่เมื่อปี ค.ศ.184 มีกวนอูเตียวหุยเป็นผู้ช่วย ต่อมาเตียวก๊ก เตียวโป้ และเตียวเหลียงแกนนำโจรโพกผ้าเหลืองตายลง เล่าปี่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายอำเภออานสี่(ฉบับท่านเจ้าพระยาพระคลังว่าเป็นเมืองอันห้อก้วน) ค.ศ.185 ผู้ตรวจราชการจากนครหลวงมีนามว่า ต๊กอิ้ว เดินทางมาตรวจสอบงานราชการ ณ อำเภออานสี่ ผู้ตรวจคนนี้ต้องการเงินสินบน แต่เล่าปี่ไม่มีให้จึงถูกผู้ตรวจทำรายงานใส่ร้ายส่งให้เมืองหลวง เตียวหุยโกรธมากจึงจับตัวต๊กอิ้วมาโบยตีต่อหน้าชาวบ้าน แล้วทั้งสามพี่น้องก็หนีออกจากอำเภออานสี่ไป ค.ศ.188 เล่าปี่ไปอยู่กับกองซุนจ้านเพื่อนสมัยเรียน กองซุนจ้านให้เล่าปี่ไปเป็นนายอำเภอผิงหยวน ต่อมาขุนศึกเจ้าเมืองเสเหลียง...ตั๋งโต๊ะ ได้ยกทัพเข้าไปแย่งชิงอำนาจในเมืองหลวง เขาสามารถยึดอำนาจส่วนกลางของราชวงศ์ฮั่นไว้ได้ เขาปลดฮ่องเต้เด็กหองจูเปียนออกและตั้งหองจูเหียบเป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ ซึ่งเป็นเพียงกษัตริย์หุ่นภายใต้การชักนำของเขาเท่านั้น โจโฉทนตั๋งโต๊ะไม่ได้จึงหนีออกไปรวบรวมกองทัพพันธมิตร 18 หัวเมืองในปี ค.ศ.189 ปีเดียวกับที่ตังโต๊ะยึดอำนาจได้นั้นเอง ค.ศ.190 กองทัพพันธมิตร 18 หัวเมืองยกให้อ้วนเสี้ยวเป็นผู้นำกองทัพ ซึ่งเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยก็ได้ไปในกองทัพครั้งนี้ด้วย โดยเล่าปี่เป็นทหารในสังกัดของกองซุนจ้าน ส่วนกวนอูเป็นนายทหารม้ามือธนู อ้วนเสี้ยวส่งซุนเกี๋ยนเข้าโจมตีตั๋งโต๊ะแต่ก็แพ้กลับมาเพราะอ้วนสุดไม่ยอมส่งเสบียงไปให้ทัพของเขา ฮัวหยงแม่ทัพซ้ายของตั๋งโต๊ะได้มาท้ารบและฆ่าแม่ทัพของฝ่ายพันธมิตรตายลงไปคนแล้วคนเล่า ในที่สุดกวนอูจึงขออาสาไปต่อสู้กับฮัวหยง ในชั้นแรกอ้วนเสี้ยวโกรธมากที่กวนอูที่เป็นเพียงทหารม้ามือธนูกลับกำแหงจะไปรบกับแม่ทัพอย่างฮัวหยง แต่โจโฉห้ามไว้ และให้กวนอูออกไปสู้กับฮัวหยง ปรากฏว่ากวนอูสามารถปลิดชีพฮัวหยงได้ในกระบวนท่าเดียวเท่านั้น(4) และแล้วลิโป้ก็ออกมาสู้รบเอง ขุนศึกฝ่ายพันธมิตรพ่ายแพ้คนแล้วคนเล่า เตียวหุยน้องคนเล็กก็ได้อาสาออกไปรบกับลิโป้ เมื่อรบกันได้สี่สิบเพลงกวนอูก็เข้าไปช่วย และเมื่อรบกันอีกสักพักเล่าปี่ก็เข้าไปร่วมวงด้วย ปรากฏว่าลิโป้ซึ่งได้ชื่อว่าไม่เคยแพ้ใครถึงกับต้องถอยกลับไปเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งทำให้สามพี่น้องร่วมสาบานมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว กวนอูเองก็ได้รับการสรรเสริญว่ามีฝีมือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าลิโป้ผู้ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นเทพนักรบเลย(5) แต่สุดท้ายกองทัพพันธมิตรก็แตกคอกันเองและต้องแยกทางกันไป สามพี่น้องก็ได้ยกทัพกลับไปกับกองซุนจ้าน หลังจากนั้นไม่นานในปี ค.ศ.192 ลิโป้กับอ้องอุ้นร่วมมือกันฆ่าตั๋งโต๊ะได้สำเร็จ แต่ทั้งสองก็กุมอำนาจไม่นาน ลิฉุยกุยกีลูกน้องของตั๋งโต๊ะยกทัพเข้าลกเอี๋ยงได้ในเวลาไม่นานนัก ในปี ค.ศ. 193 โจโก๋บิดาของโจโฉถูกฆ่าตายโดยเตียวคีอดีตโจรโพกผ้าเหลืองซึ่งเป็นลูกน้องของโตเกี๋ยมเจ้าเมืองชีจิ๋ว(6) โจโฉยกทัพเข้าตีชีจิ๋ว เล่าปี่ยกทัพมาช่วยโตเกี๋ยม เขาเขียนสารขอให้โจโฉหยุดยั้งการตีชีจิ๋ว ประกอบกับขณะนั้นมีข่าวว่าลิโป้กำลังยกทัพเข้ามาตีกุนจิ๋ว โจโฉจึงถอยทัพไป ส่วนเล่าปี่ได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองชีจิ๋วในปี ค.ศ.193 ส่วนกวนอูได้เป็นปลัดเมืองเซี่ยพีที่อยู่ใกล้ๆนั้นเอง ต่อมาไม่นานลิโป้ที่ถูกโจโฉตีจนทัพแตกพ่ายก็หนีมาอยู่กับเล่าปี่ เล่าปี่ก็ให้ลิโป้ไปอยู่เมืองเสียวพ่าย ปี ค.ศ.196 ลิฉุยกับกุยกีขัดแย้งกันเองจนพระเจ้าเหี้ยนเต้เสด็จหนีออกไป และไปพบกับกองทัพของโจโฉ โจโฉนำเสด็จพระเจ้าเหี้ยนเต้กลับโลหยาง(ลกเอี๋ยง) แต่เห็นว่าทรุดโทรมเกิรกว่าจะบูรณะจึงย้ายเมืองหลวงไปยังฮูโต๋ ส่วนเล่าปี่ตอนนั้นได้ยกทัพไปตีอ้วนสุดพร้อมกับกวนอู ให้เตียวหุยรักษาเมือง กวนอูไปรบครั้งนี้ได้สร้างวีรกรรมตัดคอกิเหลงแม่ทัพของอ้วนสุดตายได้อย่างง่ายดาย แต่ก็ต้องได้ทราบข่าวร้ายจากเตียวหุยว่าลิโป้ยึดชีจิ๋วไปแล้ว เล่าปี่เดินทางกลับไปชีจิ๋ว ลิโป้อ้างว่าต้องการควบคุมสถานการณ์ และให้เล่าปี่ไปอยู่เมืองเสียวพ่ายแทน ต่อมาในปีเดียวกัน เล่าปี่ก็หนีไปขอพึ่งโจโฉ ซึ่งในช่วงนี้กวนอูก็ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ พระเจ้าเหี้ยนเต้ก็ยกย่องกวนอูว่าเป็น "เฒ่าหนวดงาม" โจโฉช่วยเล่าปี่ปราบลิโป้ได้สำเร็จในปี ค.ศ.198 ในช่วงที่โจโฉช่วยเล่าปี่ปราบลิโป้นี้มีเกร็ดเล็กๆเกี่ยวกับกวนอูอย่างหนึ่งที่หลอกว้านจงไม่ได้นำมาใส่ไว้ในบทงิ้ว นั่นคือกวนอูติดใจหญิงสาวคนหนึ่งถึงขนาดออกปากขอจากโจโฉ นางคือ ตู้สื้อ เป็นภรรยาของขุนนางคนหนึ่งของลิโป้ที่มีนามว่า ฉินหยีลู่ แต่โจโฉก็ไม่ยอมยกนางตู้สื้อให้กับกวนอู เพราะโจโฉเองก็เป็นเสือผู้หญิงตัวยงในยุคนั้นทีเดียว เขาจึงเก็บนางตู้สื้อเอาไว้เชยชมเสียเอง เหตุการณ์นี้มีบันทึกในจดหมายเหตุหัวหยางกว๋อจื้อของเฟยฉงจือและสามก๊กจี่ของเฉินโซ่ว(ตันซิ่ว)ด้วย จึงน่าจะเป็นเรื่องจริง แต่อาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้เทพเจ้ากวนอูมัวหมองไป จึงถูกตัดออกจากบทงิ้วก็เป็นได้ ต่อมาในปี ค.ศ.200 โจโฉให้เล่าปี่ยกทัพไปปราบอ้วนสุด แต่อ้วนสุดตายเสียก่อน เล่าปี่ก็ยกทัพไปตีเอาชีจิ๋วซึ่งขณะนั้นเป็นของโจโฉคืนมา โจโฉโกรธมากยกทัพใหญ่มาตีทัพเล่าปี่แตกพ่าย เล่าปี่กับเตียวหุยหนีเตลิดไปคนละทาง กวนอูต้องยอมจำนนโดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ(7) คือ 1 กวนอูยอมรับใช้ราชวงศ์ฮั่นและพระเจ้าเหี้ยนเต้ ไม่ใช่โจโฉ 2 พี่สะใภ้ทั้งสองนั้น กวนอูจะปรนิบัติดูแลอยู่ด้วย โจโฉต้องรับรองไม่ให้ใครมากล้ำกราย 3 ถ้ากวนอูรู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ใดก็จะไปหาทันที ไม่ต้องร่ำลาโจโฉและไม่ให้โจโฉห้ามปรามด้วย โจโฉยอมรับเงื่อนไขสามข้อนี้ กวนอูจึงมาอยู่กับโจโฉ โจโฉแต่งตั้งให้กวนอูเป็นฮั่นโซ้วถิงโหวหรือพระยาพิทักษ์ฮั่น โจโฉปรนเปรอกวนอูด้วยทรัพย์สมบัติและอื่นๆอีกมากเพื่อให้กวนอูยอมรับใช้ตนเอง แต่กวนอูก็ไม่ยอมเปลี่ยนใจ โจโฉจึงมอบม้าเซ็กเทาอดีตม้าศึกของเทพสงครามอย่าง






ลิโป้ให้กวนอู ปรากฏว่ากวนอูดีใจมาก โจโฉจึงถามถึงสาเหตุ กวนอูก็ตอบว่าเพราะจะสามารถขี่ม้าเซ็กเทาวิ่งไปหาเล่าปี่ได้ทันที โจโฉจึงประทับใจในตัวกวนอูยิ่งนัก ในขณะที่กวนอูอยู่กับโจโฉนั้น แม้โจโฉจะชื่นชมกวนอูอย่างมากก็ตาม แต่เขาสังเกตสีหน้ากวนอูได้ว่ากวนอูคงจะอยู่กับเขาไม่นาน โจโฉจึงส่งเตียวเลี้ยวไปถามสาเหตุ กวนอูฟังคำเตียวเลี้ยวแล้วก็ทอดถอนใจกล่าวว่า "ข้าทราบเป็นอย่างดีว่าท่านโจโฉได้ปฏิบัติต่อข้าดียิ่ง หากแต่ท่านเล่าปี่ได้มอบความเมตตาให้แก่ข้าอย่างมหาศาล ข้าสาบานที่จะตายพร้อมกับเขา ข้าไม่อาจผิดคำสาบานที่ให้ไว้ได้ ยังไงเสียข้าก็จะต้องจากท่านโจโฉไป แต่ก่อนที่ข้าจะจากไป ข้าจะตอบแทนบุญคุณของท่านโจโฉเสียก่อนอย่างแน่นอน" โจโฉได้ฟังที่เตียวเลี้ยวเล่าก็เห็นว่าเป็นการยุติธรรมดี และยิ่งเพิ่มความชื่นชมในตัวกวนอูยิ่งขึ้นไปอีก ต่อมาโจโฉยกทัพไปรบกับอ้วนเสี้ยว งันเหลียงขุนศึกของอ้วนเสี้ยวฆ่าขุนศึกโจโฉตายไปหลายคน กวนอูได้อาสาออกรบ เขาควบม้าวิ่งเข้าไปหางันเหลียงท่ามกลางดงข้าศึก และสามารถฆ่างันเหลียงได้ในการรบเพียงไม่กี่กระบวนซึ่งบางฉบับยังว่ากระบวนเดียวซะด้วยซ้ำไป ต่อมาก็สามารถกำจัดบุนทิวนายทหารเอกอีกคนของอ้วนเสี้ยวลงได้(8) ในการศึกครั้งนี้เขาได้พบกับเล่าปี่ในสนามรบด้วย กวนอูจึงคิดจะหนีโจโฉไปหาเล่าปี่พร้อมกับฮูหยินทั้งสอง เมื่อโจโฉรู้ว่ากวนอูจะไปแน่ๆจึงมอบทรัพย์มากมายแก่กวนอู แต่กวนอูไม่ได้รับของเหล่านั้นไว้เลยแม้แต่น้อย เขาเขียนจดหมายขออภัยต่อโจโฉและจากไปทันที ลูกน้องของโจโฉบางคนพยายามไล่ตาม แต่โจโฉกล่าวว่า "บุรุษผู้นั้นได้เลือกนายของเขาแล้ว จงปล่อยเขาไปเถิด" อย่างไรก็ตาม ในการหนีครั้งนี้กวนอูได้ฆ่าทหารนายด่านของโจโฉตายไปมากมายในเหตุการณ์ "หักห้าด่านสังหารหกนายพล"(9)อีกด้วย ระหว่างทางที่กวนอูหนีก็มาเจอกับเตียวหุย เตียวหุยโกรธมากที่กวนอูไปยอมจำนนโจโฉจึงไล่ฟันกวนอู พอดีกับที่ทหารโจโฉตามมา กวนอูจึงฆ่าทหารโจโฉเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตน เตียวหุยจึงเชื่อกวนอูและพากันไปหาเล่าปี่ที่อยู่กับอ้วนเสี้ยว ซึ่งต่อมาเล่าปี่ก็ได้หนีไปจากอ้วนเสี้ยว และลงใต้ไปขอพึ่งเล่าเปียวในปี ค.ศ.201 ค.ศ.207 เล่าปี่ได้พบกับจอมปราชญ์สุมาเต๊กโช เล่าปี่ได้ถามเขาถึงบัณฑิตผู้มีความสามารถ สุมาเต๊กโชกล่าว่าขงเบ้งและบังทองคือบัณฑิตนั้น เล่าปี่จึงได้ไปเชิญตัวขงเบ้งมาช่วยงาน โจโฉยกทัพล่องใต้มายังเกงจิ๋ว และส่งแฮหัวตุ้นมาปราบเล่าปี่ ขงเบ้งได้ใช้ความสามารถในการวางกลยุทธ์เผาทัพของแฮหัวตุ้นจนราบคาบ แต่ต่อมาโจโฉได้ยกทัพใหญ่มาด้วยตนเอง เล่าจ๋องผู้ครองเกงจิ๋วต่อจากเล่าเปียวประกาศยอมแพ้ เล่าปี่จึงต้องหนีต่อไปพร้อมกับประชาชนจำนวนมากในปีถัดมา(ค.ศ.208) ขงเบ้งได้ไปขอกำลังเสริมจากเล่ากี๋บุตรเล่าเปียว ณ แฮเค้า ส่วนกวนอูได้รับมอบหมายให้นำทหารและประชาชนส่วนหนึ่งอพยพไปทางเรือก่อน หลังจากนั้นเล่าปี่ได้ตกลงเป็นพันธมิตรกับซุนกวน โจโฉยกทัพใหญ่มาอีกแต่ก็ต้องพ่ายแพ้ยับเยินในศึกที่เรียกกันว่าศึกเซ็กเพ็ก ซึ่งตามบทงิ้วของหลอกว้านจงเขียนว่า ขงเบ้งได้วางแผนให้จูล่ง เตียวหุย กวนอู ไปซุ่มสกัดทัพของโจโฉในที่ต่างๆกัน โจโฉสามารถฝ่าสองคนแรกมาได้ แต่มาเจอกับกวนอูที่ด่านสุดท้าย แต่แล้วกวนอูก็ปล่อยโจโฉไปเพราะเห็นแก่บุญคุณเก่าก่อน ขงเบ้งทราบเรื่องก็กล่าวว่า ที่จริงเขาได้วางแผนไว้เช่นนี้อยู่แล้วเพื่อให้กวนอูได้ชำระบุญคุณกับโจโฉให้จบกันไป(10) แต่แล้วเล่าปี่กลับลอบโจมตีหัวเมืองของเกงจิ๋วตอนล่างไว้ได้ ในศึกนี้กวนอูได้รับหน้าที่เข้าตีเมืองเตียงสา เขาได้พบกับฮองตงยอดนักรบเฒ่าผู้มีฝีมือร้ายกาจ ทั้งสองต่อสู้กันอย่างสมศักดิ์ศรี แต่ม้าของฮองตงสะดุดล้ม ฮองตงตกม้าลงไปกองกับพื้น แต่กวนอูไม่ซ้ำเติมและบอกให้ไปเปลี่ยนม้ามาสู้ใหม่ หลังจากสู้กันสักพักฮองตงก็ถอยเข้าเมืองไป วันต่อมาฮันเหียนเจ้าเมืองสั่งให้ฮองตงยิงธนูดับชีพกวนอูเสีย ฮองตงแกล้งยิงพลาดมาถูกหมวกกวนอูเพื่อตอบแทนกวนอู แต่ฮันเหียนหาว่าฮองตงกบฏและจะประหาร อุยเอี๋ยนทหารในเมืองได้ก่อการจลาจลและฆ่าฮันเหียน เปิดเมืองเตียงสาให้กับกวนอู ฮองตงกับอุยเอี๋ยนจึงสวามิภักดิ์กับเล่าปี่ เล่าปี่สามารถยึดเกงจิ๋วตอนล่างไว้ได้ในปี ค.ศ.209(11) ในปี ค.ศ.211 เล่าปี่ยกทัพสู่ตะวันตกเตรียมทำศึกยึดเอ๊กจิ๋ว(เสฉวน) โดยเอาหวดเจ้ง บังทองไปเป็นกุนซือ ส่วนขงเบ้ง กวนอู จูล่ง เตียวหุย ได้ถูกมอบหมายให้รักษาเกงจิ๋วตอนล่าง ในระหว่างที่รบกับเล่าเจี้ยงแห่งเสฉวนอยู่นั้น เล่าปี่ได้ให้เตียวหุยกับจูล่งตามไปรบด้วย หัวเมืองเกงจิ๋วจึงเหลือเพียงกวนอูและขงเบ้งรักษาไว้ ในปี ค.ศ.214 เล่าปี่ก็ยึดเสฉวนได้ และขงเบ้งก็ถูกตามตัวไปช่วยงานบริหารราชการเสฉวน เหลือเพียงกวนอูรักษาเกงจิ๋วอยู่ผู้เดียว ก่อนที่ขงเบ้งจะไปเสฉวน เขาถามกวนอูว่าถ้าฝ่ายโจโฉหรือซุนกวนยกทัพมาตีเกงจิ๋วจะทำอย่างไร กวนอูตอบว่าเขาจะนำทหารออกไปสู้จนตัวตาย ขงเบ้งส่ายหน้า "นั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง" ขงเบ้งกล่าว "ท่านควรผูกมิตรกับซุนกวน แล้วตีโจโฉจึงจะควร" กวนอูรับฟัง แต่ดูเหมือนเขาจะไม่ได้ใส่ใจนัก ซึ่งพฤติกรรมช่วงหลังของเขาจะสามารถยินยันข้อนี้ได้ดี ปี ค.ศ.215 ซุนกวนส่งจูกัดกิ๋นไปทวงเกงจิ๋วจากเล่าปี่ เล่าปี่อ้างว่าจะยึดมณฑลเลงจิ๋วเสียก่อนจึงจะคืน ซุนกวนกล่าวว่า "เล่าปี่ต้องการยืดเวลาด้วยคำพูดไร้สาระ" เขาส่งขุนนางง่อไปปกครองเมือง3เมือง คือ เลงเหลง เตียงสา และฮุยเอี๋ยง แต่ขุนนางง่อถูกกวนอูไล่ตะเพิดกลับไป ซุนกวนยิ่งโกรธมากขึ้น ส่งลิบองกับทหารสามหมื่นเข้ายึดสามเมืองข้างต้นได้สำเร็จ แต่เล่าปี่ได้มอบทหารให้กวนอูไปยึดสามเมืองคืนมา โลซกมาเจรจาทวงเกงจิ๋วคืนจากกวนอู โดยให้ทหารพักรบกันไว้ก่อน เขากล่าวตำหนิการปฏิเสธที่จะคืนเมืองของฝ่ายเล่าปี่ กวนอูตอบว่า "ในการโจมตี Wulin ท่านเล่าปี่เป็นผู้นำทัพต่อสู้ด้วยตนเอง แล้วเหตุใดเล่าเขาจึงไม่ได้รับผลตอบแทนแม้สักเศษเสี้ยวหนึ่งของแผ่นดิน" "หาใช่เช่นนั้นไม่" โลซกตอบ "เมื่อครั้งแรกที่ข้าพบกับท่านเล่าปี่ กองทัพของเขาเหลือไม่มากไปกว่าทัพหน่วยย่อยของขุนพลเท่านั้น เสบียงอาหารก็กำลังจะหมด ขวัญทหารก็หดหาย อำนาจก็แทบไม่เหลือ ในตอนนั้นท่านเล่าปี่สูญเสียกำลังใจจะทำสิ่งใด และกำลังวางแผนจะหนีไปให้ห่างไกลมิใช่หรือ ท่านซุนกวนได้ช่วยเหลือเล่าปี่ เขาใจกว้างกับท่านเล่าปี่ยิ่งนัก เขามอบดินแดนและทุกอย่างที่ท่านเล่าปี่ต้องการเพื่อป้องกันตนเอง เวลานี้ท่านเล่าปี่กลับประพฤติตนเป็นผู้เห็นแก่ตัว เขาปิดบังความจริง ละเมิดคุณธรรมและหลักที่ควรปฏิบัติ แล้วยังจะยึดเกงจิ๋วเอาไว้เสียอีก พฤติกรรมเช่นนี้แม้กระทั่งราษฎรสามัญก็ยังละอายแก่ใจ ยิ่งผู้ที่เป็นผู้ปกครองและสั่งการผู้คน ก็ย่อมต้องละอายใจยิ่งกว่า" กวนอูได้ยินดังนั้นก็เงียบไป ไม่ตอบคำโลซก ในความบาดหมางของฝ่ายจ๊กกับง่อครั้งนี้ยังมีเกร็ดอย่างหนึ่งที่หลอกว้านจงไม่ได้นำมาใส่ไว้ในบทงิ้วของเขา คือตอนที่กวนอูคุมทหารสามหมื่นมาโจมตีซุนกวนที่ Yiyang กำเหลงเป็นทหารคนหนึ่งที่ร่วมกับโลซกในการต้านทานกวนอูครั้งนั้น ในศึกครั้งนั้น กวนอูนำทหารชำนาญศึกห้าพันนายเดินทัพไปทางต้นน้ำระยะประมาณสิบลี้ซึ่งมีระดับน้ำพอจะเดินเท้าได้ เพื่อเตรียมตัวข้ามน้ำไปลอบโจมตียามค่ำคืน ในเวลานั้น กำเหลงซึ่งมีทหารเพียง 300 นาย กล่าวแก่โลซกว่า "ขอทหารให้ข้าอีกห้าร้อยคน ข้าจะนำทัพไปเผชิญหน้ากับกวนอูเอง ข้ามั่นใจว่าถ้ากวนอูรู้ว่าข้ายกทัพมาเอง เขาจะต้องไม่กล้าข้ามแม่น้ำอย่างแน่นอน" โลซกจึงมอบทหารให้กวนอูอีกพันนาย กำเหลงจึงยกทัพไปเผชิญหน้ากับทัพกวนอูในคืนนั้นเอง ส่วนกวนอูเมื่อรู้ว่ากำเหลงยกทัพมาก็หยุดเดินทัพและตั้งค่าย ณ ที่นั้น นับตั้งแต่นั้นชาวบ้านก็เรียกบริเวณที่กวนอูไม่ข้ามน้ำมาโจมตีกำเหลงว่า "หาดกวนอูขยาด" หรือ "หนองน้ำกวนอู" หลังการเจรจาครั้งนั้นไม่นาน โจโฉยกทัพโจมตีฮั่นจง เล่าปี่จึงทำสัญญาสงบศึกกับซุนกวน ซุนกวนส่งจูกัดกิ๋นไปเป็นทูตเจรจาเรื่องมณฑลเกงจิ๋ว ผลการเจรจาเป็นเอกฉันท์ว่า ให้ใช้แม่น้ำ Xiang เป็นตัวแบ่งเขตแดน เตียงสา กังแฮ และฮุยเอี๋ยงทางตะวันออกเป็นอาณาบริเวณปกครองของง่อก๊ก ขณะที่เมืองหนานจวุ้น เลงเหลงและบุเหลงเป็นอาณาบริเวณปกครองของจ๊กก๊ก ต่อมาซุนกวนส่งจูกัดกิ๋นพี่ชายของขงเบ้งมาเจรจาขอบุตรสาวกวนอูไปเป็นสะใภ้ กวนอูกลับด่าจูกัดกิ๋นซะสาดเสียเทเสีย เขาถึงกับกล่าวว่า "อันบุตรของเรานี้ชาติเชื้อเหล่าเสือ ไม่สมควรจะให้แก่สุนัข" และยังกล่าวว่าถ้าไม่เห็นแก่ที่จูกัดกิ๋นเป็นพี่ชายขงเบ้งจะฆ่าทิ้งเสีย ทำให้ซุนกวนโกรธแค้นมาก(12) ค.ศ.217 กวนอูที่อยู่เกงจิ๋วได้เกณฑ์ทหารและซ่องสุมกำลังรบมากขึ้น กิมหัน เกงจี อุยหลง หมอเกียดเป๋งและบุตรชายเกียดเมา เกียดบก วางแผนจะฆ่าอองปิดผู้ซึ่งโจโฉมอบหมายให้ดูแลราชการเมืองฮูโต๋ในตอนนั้น ใช้ฮ่องเต้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านโจโฉ และส่งสารไปขอให้กวนอูยกทัพหนุนมาจากเกงจิ๋ว แต่สุดท้ายแผนนี้ก็ไม่สำเร็จ คนทั้งหมดที่ร่วมก่อการถูกอองปิดจับได้ในปีต่อมา (ค.ศ.218) และถูกประหารทั้งหมด เวลาล่วงเลยไปจนถึงปี ค.ศ.219 เล่าปี่ยึดครองฮั่นจง(ฉบับเจ้าพระยาพระคลังเรียกว่าฮันต๋ง)ได้และสถาปนาตนเป็นฮั่นจงอ๋อง แต่งตั้งให้กวนอูเป็นเฉียนเจียงจวินยศนายพลทัพหน้า บทงิ้วของหลอกว้านจงเขียนว่า กวนอูไม่พอใจและส่งสาส์นไปถามขงเบ้งว่า "เตียวหุยเป็นน้องเราถือว่าสมควร ส่วนจูล่งติดตามเรามานานปีก็สมควร แต่ม้าเฉียวและฮองตงเล่ามีดีอันใด" ขงเบ้งต้องส่งจดหมายไปสรรเสริญว่ากวนอูไร้เทียมทาน กวนอูจึงยอมสยบ(13) ส่วนสามก๊กฉบับประวัติศาสตร์กล่าวว่า เล่าปี่ตั้งกวนอูเป็นแม่ทัพหน้า และฮองตงเป็นแม่ทัพขวา บีสีนายพันทหารหน่วยหน้ามณฑลเสฉวนได้รับมอบหมายให้นำตราตั้งไปมอบให้กวนอู กวนอูเมื่อทราบว่าฮองตงได้เป็นแม่ทัพระดับเดียวกับตนก็โกรธมาก เขากล่าวว่า "ข้าดีกว่าเจ้าโง่นั่นมากนัก" และปฏิเสธตำแหน่งนายพลนี้ แต่บีสีได้กล่าวต่อกวนอูว่า "การทำการใหญ่ไม่อาจมีมิตรสหายเพียงคนเดียว ในอดีตนั้น เซียวเหอและเฉาเซิน(14)ต่างเป็นเพื่อนเก่าที่ร่วมทำงานมากับฮั่นเกาจู่หลิวปังปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น ขณะที่หันซิ่นกับ เฉินผิง มาทีหลังในฐานะผู้อพยพ เมื่อฮั่นเกาจู่ทำการสำเร็จ หันซิ่นได้รับตำแหน่งใหญ่ที่สุดเป็นถึงฉีอ๋อง แต่ข้าไม่เคยได้ยินว่าท่านเซียวเหอและท่านเฉาเซินจะไม่พอใจในเรื่องนี้แต่อย่างใดเลย ถ้าฮั่นจงอ๋องผู้ต้องการรักษาเกียรติแห่งราชวงศ์ฮั่นจะมอบรางวัลแก่บางคนสำหรับความสำเร็จของเขาตามแต่โอกาส เหตุใดเล่าท่านจึงคิดว่าท่านอ๋องให้เกียรติท่านไม่ต่างจากบุคคลอื่น ท่านและท่านอ๋องสนิทสนมชิดเชื้อราวกับเป็นร่างกายเดียวกัน อีกทั้งท่านก็ร่วมสุขร่วมทุกข์มากับท่านอ๋อง ข้าไม่เชื่อว่าท่านจะตัดสินความรู้สึกของท่านอ๋องจากของขวัญและตำแหน่งศักดินาที่ได้รับ ข้าเป็นคนส่งสาร ก็จักต้องทำตามหน้าที่ ถ้าท่านปฏิเสธการแต่งตั้ง ข้าก็จะต้องกลับไปด้วยความเสียใจที่ไม่อาจทำหน้าที่ให้ลุล่วง และข้าคิดว่าท่านเองก็อาจจะเสียใจเช่นกัน" กวนอูประทับใจมาก เขายอมรับความผิดของตนและรับการแต่งตั้งจากเล่าปี่โดยดีในทันที ในปีเดียวกัน กวนอูแต่งตั้งบิฮองเจ้าเมืองลำกุ๋นให้ป้องกันเมืองกำเหลง และมอบหมายให้แม่ทัพเปาสูหยินป้องกันเมืองกองอั๋น ส่วนตัวเขาเองนำทัพไปโจมตีโจหยินที่อ้วนเซีย โจหยินตั้งค่ายอยู่ทางเหนือของอ้วนเซีย ส่วนอิกิ๋มและบังเต๊กตั้งค่ายอยู่ทางเหนือของอ้วนเซีย เกิดฝนตกหนักในเดือนแปด ระดับน้ำสูงมากจนพังตลิ่งแม่น้ำฮันซุย ทัพของอิกิ๋มถูกน้ำท่วมหนักจึงไต่ขึ้นที่สูงเพื่อหนีน้ำที่ไหลบ่าเข้ามา กวนอูฉวยโอกาสล่องเรือไปโจมตีพวกเขา อิกิ๋มเห็นเหลือกำลังจึงยอมจำนน ส่วนบังเต๊กต่อสู้ต้านทานตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง เขาใช้ธนูยิงทัพของกวนอูจนลูกธนูหมด ทหารของเขายอมจำนนกันหมด เขาลงเรือเล็กเพื่อกลับค่ายของโจหยิน แต่เรือของเขาพลิกคว่ำ เขาต้องเกาะเรือที่พลิกคว่ำไว้ อาวุธเขาถูกสายน้ำพัดหายไป เมื่อไม่มีอาวุธเขาจึงถูกกวนอูจับได้ในที่สุด บังเต๊กเดินมาหน้ากวนอูและไม่โค้งคำนับ กวนอูกล่าวว่า "ท่านก็มีลูกพี่ลูกน้องอยู่ฮั่นจง ข้าเองก็ยินดีที่จะมีลูกน้องเช่นท่าน เหตุใดท่านจึงไม่สวามิภักดิ์โดยดี" "ไอ้ไพร่สถุล" บังเต๊กสบถ "เหตุใดเจ้าจึงพูดถึงการยอมจำนนเล่า ท่านวุยอ๋องของเรามีทหารกว่า1ล้าน อำนาจของเขาสะเทือนแผ่นดิน เล่าปี่ของเจ้าไม่มีสิ่งใดพิเศษเลย ไม่มีทางจะสู้เขาได้ ข้ายอมตาย แต่ไม่มีทางจะยอมรับใช้โจรกบฏเป็นอันขาด" กวนอูเมื่อฟังคำบังเต๊กก็รู้ว่าบังเต๊กไม่มีทางสวามิภักดิ์ตนแน่ เขาจึงสั่งฆ่าบังเต๊กเสีย แต่เขาก็นับถือความกล้าหาญจงรักภักดีของบังเต๊ก และยกย่องว่าบังเต๊กเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว ศึกครั้งนี้ทำให้ชื่อเสียงกวนอูดังระบือไปทั่วแผ่นดิน โจโฉยังหวาดหวั่นถึงขนาดจะย้ายเมืองหลวงหนี แต่สุมาอี้และเหล่าที่ปรึกษาแนะนำว่า "กวนอูเป็นคนเก่งแต่เย่อหยิ่งทรนงตัว ถ้ายุให้ซุนกวนแห่งง่อเข้าตีเกงจิ๋วได้ กวนอูจะขาดฐานที่มั่นและเราจะมีโอกาสชนะ" ซุนกวนส่งลกซุนมาประจำการที่เกงจิ๋วแทนลิบอง กวนอูเห็นเช่นนั้นก็ได้ใจเพราะเห็นว่าลกซุนเป็นแค่บัณฑิตหนุ่ม ลกซุนเห็นได้ทีจึงเขียนจดหมายมาสรรเสริญกวนอูอีกจนกวนอูวางใจ กวนอูเมื่อรบชนะอิกิ๋มและได้เชลยศึกจำนวนมาก เสบียงของเขาก็เริ่มขาดแคลน กวนอูจึงถือวิสาสะยึดคลังเสบียงของซุนกวนที่ เซียงกวน ไปโดยไม่บอกกล่าว กวนอูยกทัพขึ้นเหนือมายังอ้วนเซีย แต่คราวนี้เขาเจอกับซิหลงขุนพลผู้เก่งกาจของโจโฉ เขาถูกซิหลงใช้กลศึกโจมตีพ่ายแพ้ ต้องถอยทัพกลับไป แต่กลับได้ทราบข่าวร้ายว่าลิบองได้ยึดเกงจิ๋วไปแล้ว เขารีบนำทัพกลับลงใต้ทันที ตอนแรกโจหยินคิดจะตีตลบหลังกวนอู แต่เอียวงันห้ามไว้ และต่อมามีคำสั่งจากโจโฉมาว่าไม่ให้ยกทัพตามกวนอู โจหยินจึงเลิกล้มความคิดนี้ กวนอูส่งทูตไปหาลิบองหลายครั้ง ลิบองนำทูตเหล่านั้นไปรอบเมือง เหล่าชาวเมืองได้ฝากจดหมายไปให้ญาติๆของพวกเขาที่อยู่ในกองทัพกวนอู เมื่อกองทัพกวนอูได้รับจดหมายจากญาติพี่น้อง จึงไม่มีจิตใจต่อสู้ กวนอูมุ่งหน้าไปตะวันตกยังเมืองเป๊กเสีย ซุนกวนส่งทูตไปขอให้เขายอมจำนน เขาแกล้งตกลงไป แต่กลับตั้งธงศึกบนกำแพงให้เหมือนมีทหารมากมาย แล้วก็ลอบหนีออกไป ซุนกวนส่งจูเหียนและพัวเจี้ยงไล่ตามกวนอูไป พวกเขาสามารถจับกวนอูและบุตรชายคือกวนเป๋งได้ที่เขาเจาสัน และกวนอูก็ถูกประหารในเดือนสิบสองของปี ค.ศ.219 รวมอายุได้ 57 ปี...หัวของกวนอูถูกซุนกวนส่งไปให้โจโฉ ณ นครฮูโต๋ ซึ่งมันเป็นอุบายที่จะหลอกเล่าปี่ว่าโจโฉเป็นคนสั่งให้ฆ่ากวนอู เพื่อให้เล่าปี่ไปทำสงครามกับโจโฉแทน แต่โจโฉรู้ทันจึงจัดงานศพให้แก่กวนอูอย่างสมเกียรติ ฝังซากศพของกวนอูไว้ ณ ประตูเมืองโลหยาง(ลกเอี๋ยง)ด้านใต้ ส่วนเล่าปี่ก็ไม่หลงกลและโกรธแค้นซุนกวนมาก ซึ่งมันทำให้เกิดสงครามครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างเล่าปี่กับซุนกวน สงครามครั้งนี้ถูกเรียกกันว่า "สงครามอิเหลง" หรือสงครามหยีหลิง..ซึ่งลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ยับเยินของเล่าปี่ในปี ค.ศ.222... (1) บางแห่งก็ว่าชื่อรองเดิมของกวนอูคือโซ่วฉาง แต่โซ่วฉางกับฉางเซิงก็มีความหมายเหมือนกันคืออายุยืน (2) แปลว่าเมฆยาว (3) สามก๊กฉบับท่านเจ้าพระยาพระคลัง(หน)เรียกง้าวของกวนอูว่า ง้าวนิลนาคะ (4) ที่จริงแล้วประวัติศาสตร์บันทึกว่าซุนเกี๋ยนต่างหากที่เป็นคนฆ่าฮัวหยงได้ (5) ที่จริงแล้วเหตุการณ์3พี่น้องรุมรบลิโป้ไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ฉบับของเฉินโซ่ว(ตันซิ่ว) (6) ประวัติศาสตร์บันทึกว่าคนที่ฆ่าโจโก๋คือกองทัพของโตเกี๋ยมที่ไปตั้งค่ายอยู่แถวๆนั้น (7) ประวัติศาสตร์บันทึกว่ากวนอูยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข (8) ประวัติศาสตร์บันทึกว่าโจโฉเป็นคนฆ่าบุนทิวด้วยกลศึก (9) ไม่มีเหตุการณ์นี้ในประวัติศาสตร์ (10) เหตุการณ์นี้ไม่มีในประวัติศาสตร์ และไม่สมเหตุสมผลด้วย เนื่องจากบทงิ้วเขียนว่าโจโฉหนีวกไปวนมาราวกับไปทัศนาจรนอกสถานที่ ซึ่งไม่มีเหตุผลจะต้องทำเช่นนั้น (11) เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่หลอกว้านจงแต่งขึ้น ตามประวัติศาสตร์จริงฮันเหียนเจ้าเมืองเตียงสายอมจำนนต่อเล่าปี่เอง ส่วนอุยเอี๋ยนและฮองตงนั้นเพิ่งจะมาสวามิภักดิ์เมื่อตอนที่เล่าปี่ไปบุกยึดฮั่นจงในปี ค.ศ.219 ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่กวนอูไม่พอใจที่ฮองตงได้รับแต่งตั้งเป็นนายพล เพราะเขาเพิ่งมาสวามิภักดิ์ใหม่นั่นเอง (12) เหตุการณ์นี้ไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์บางฉบับ อาจเป็นเรื่องแต่งของหลอกว้านจง (13) บทงิ้วกล่าวว่าเล่าปี่ตั้งนายพลทีเดียว2คนคือม้าเฉียวและฮองตงในปี ค.ศ.219 และกวนอูก็ไม่พอใจเพียงครั้งเดียว ส่วน "ยกเครื่องเรื่องสามก๊ก" ของเล่าชวนหัว กล่าวว่ากวนอูไม่พอใจเมื่อเล่าปี่ตั้งนายพลทั้ง2ครั้ง ครั้งแรกคือม้าเฉียวในปี ค.ศ.214 ซึ่งขงเบ้งต้องส่งจดหมายไปสรรเสริญกวนอู ส่วนครั้งที่2 คือฮองตงในปี ค.ศ.219 บีสึต้องเกลี้ยกล่อมกวนอูจนเขายอมรับตำแหน่ง ส่วนสามก๊กประวัติศาสตร์ของพี่ซุนเซ็กบอกว่าเล่าปี่แต่งตั้งฮองตง ม้าเฉียว กวนอูในปีเดียวกันคือ ค.ศ.219 แต่กวนอูไม่พอใจฮองตงเพียงคนเดียว และไม่บันทึกเหตุการณ์ในปี 214 ที่ขงเบ้งส่งจดหมายไปสรรเสริญกวนอูแต่อย่างไร (14) เฉาเซินเป็นเพื่อนเก่าของหลิวปังที่ร่วมก่อการมาด้วยกันตั้งแต่อำเภอพ่าย ต่อมาเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีของราชวงศ์ฮั่นต่อจากเซียวเหอ เขายังเป็นต้นตระกูลของเฉาเถิงหรือโจเท้ง ขันทีเฒ่าซึ่งต่อมารับเด็กหนุ่มคนหนึ่งจากตระกูลแฮหัวเป็นบุตรบุญธรรม เด็กหนุ่มคนนี้ในเวลาต่อมาก็คือเฉาซง...โจโก๋ บิดาของโจโฉนั่นเอง บทนี้ขอเปลี่ยนดอกจันเป็นตัวเลขนะครับ เพราะดอกจันเยอะเหลือเกิน(มี11ดอก) ถ้าเขียนดอกจัน คนอ่านคงต้องมานั่งนับกันมึน เสียอรรถรสเปล่าๆ ครับ บทความนี้ได้นำข้อมูลมาจาก ยกเครื่องเรื่องสามก๊ก ชำแหละกึ๋นเล่าปี่ ของเล่าชวนหัว สามก๊กฉบับประวัติศาสตร์ของพี่ซุนเซ็ก บทความเจาะลึกเหล่าขุนพลสามก๊กของพี่อีเกิ้ล ก็ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ และถ้าทำผิดพลาดไปก็ขออภัยด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น: